กล่าวกันได้ว่าเทคโนโลยีการสร้างเว็บไซต์กำลังก้าวเข้าสู่ Web 3.0 คำถามสำคัญที่ผู้พัฒนาเว็บไซต์และผู้ประกอบการ ต้องหาคำตอบให้ได้คือ “อะไรจะเป็นวิธีการสร้างเว็บไซต์ที่เหมาะสมที่สุดสำหรับอนาคต?” เราได้เห็นการเติบโตของแพลตฟอร์ม No-Code/Low-Code ที่ช่วยให้ผู้ที่ไม่มีความรู้ด้านการเขียนโค้ดสามารถสร้างเว็บไซต์ได้ ในขณะเดียวกัน AI ก็กำลังพัฒนาความสามารถในการเขียนโค้ดและสร้างเว็บไซต์อย่างก้าวกระโดด
ซึ่งในปัจจุบันนั้นการสร้างเว็บไซต์สามารถทำได้ง่ายกว่าในอดีตและมีตัวเลือกมากมาย จึงเป็นที่มาที่ทำให้เราเขียนบทความในวันนี้เพื่อช่วยให้คุณสามารถตัดสินใจได้ว่าการใช้เครื่องมือสำหรับการสร้างเว็บไซต์แบบไหนจะเหมาะสมกับบริบทของคุณมากที่สุด
- การสร้างเว็บไซต์แบบ No-Code/Low-Code เป็นอย่างไร
- ทำไม No-Code/Low-Code จึงได้รับความนิยมในปัจจุบัน
- ข้อจำกัดของการสร้างเว็บไซต์แบบ No-Code/Low-Code
- การสร้างเว็บไซต์โดยใช้ AI เป็นอย่างไร
- สรุปแล้วการสร้างเว็บไซต์แบบดังเดิม VS No-Code/Low-Code VS AI
- Web 3.0 คืออะไร? การเปลี่ยนแปลงจาก Web 1.0 สู่ Web 3.0
- สรุป
การสร้างเว็บไซต์แบบ No-Code/Low-Code เป็นอย่างไร

การสร้างเว็บไซต์แบบ No-Code/Low-Code เป็นรูปแบบที่ออกแบบมาเพื่อให้ผู้ใช้สามารถสร้างเว็บไซต์ได้โดยไม่จำเป็นต้องมีความรู้ด้านการเขียนโค้ด หรือมีความรู้เพียงเล็กน้อยก็สามารถสร้างเว็บไซต์ที่มีประสิทธิภาพได้ ด้วยการใช้อินเทอร์เฟซแบบ Visual Editor ที่ใช้งานง่าย เพียงแค่ลากและวาง (Drag & Drop) องค์ประกอบต่างๆ ที่ต้องการลงบนหน้าเว็บ
No-Code คืออะไร?
- No-Code เป็นแพลตฟอร์มที่ออกแบบมาสำหรับผู้ที่ไม่มีความรู้ด้านการเขียนโค้ดเลย โดยผู้ใช้สามารถสร้างเว็บไซต์ได้ผ่านการใช้เครื่องมือที่มีอินเทอร์เฟซแบบกราฟิก (GUI) ที่เข้าใจง่าย มีเทมเพลตสำเร็จรูปให้เลือกใช้ และสามารถปรับแต่งได้ตามต้องการ แพลตฟอร์มเหล่านี้มักมาพร้อมกับฟีเจอร์ที่ครอบคลุมความต้องการพื้นฐานในการสร้างเว็บไซต์ เช่น การจัดการหน้าเว็บ ระบบจัดการเนื้อหา และระบบที่รองรับการเชื่อมต่อกับ Third-Party ต่างๆ
Low-Code มีความแตกต่างอย่างไร?
- Low-Code เป็นแพลตฟอร์มที่เหมาะสำหรับผู้ที่มีความรู้พื้นฐานด้านการเขียนโค้ดบ้าง โดยผสมผสานระหว่างการใช้อินเทอร์เฟซแบบ Visual Editor และการเขียนโค้ดเข้าด้วยกัน ทำให้ผู้ใช้สามารถสร้างเว็บไซต์ที่มีความซับซ้อนและปรับแต่งได้มากขึ้น เช่น การเพิ่มฟังก์ชันพิเศษ การปรับแต่ง API หรือการเชื่อมต่อกับฐานข้อมูลที่มีความซับซ้อน ซึ่งเหมาะสำหรับองค์กรที่ต้องการความยืดหยุ่นในการพัฒนาเว็บไซต์มากกว่าแบบ No-Code
ตัวอย่างแพลตฟอร์มยอดนิยม
- ในปัจจุบันมีแพลตฟอร์ม No-Code/Low-Code มากมายให้เลือกใช้ โดยแต่ละแพลตฟอร์มมีจุดเด่นที่แตกต่างกันไป เช่น Wix และ Webflow ที่เน้นการสร้างเว็บไซต์ที่สวยงามและใช้งานง่าย, Bubble ที่เหมาะสำหรับการสร้างแอปพลิเคชันเว็บที่มีความซับซ้อน หรือ Shopify ที่เชี่ยวชาญด้านการสร้างร้านค้าออนไลน์ ซึ่งผู้ใช้สามารถเลือกใช้ให้เหมาะกับความต้องการและทักษะของตนเอง
ทำไม No-Code/Low-Code จึงได้รับความนิยมในปัจจุบัน
จากความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในการสร้างเว็บไซต์และแอปพลิเคชันดิจิทัล ในขณะที่จำนวนนักพัฒนาที่มีทักษะการเขียนโค้ดยังคงมีจำกัด ทำให้แพลตฟอร์มเหล่านี้กลายเป็นทางเลือกที่ตอบโจทย์องค์กรและผู้ประกอบการที่ต้องการเร่งการพัฒนาผลิตภัณฑ์ดิจิทัลให้ทันต่อความต้องการของตลาด
ปัจจัยที่ทำให้ No-Code/Low-Code ได้รับความนิยม
- ความรวดเร็วในการพัฒนา : องค์กรสามารถสร้างและปรับแต่งเว็บไซต์ได้ในเวลาเพียงไม่กี่วันหรือสัปดาห์ แทนที่จะต้องใช้เวลาหลายเดือนในการพัฒนาแบบดั้งเดิม ช่วยให้ธุรกิจสามารถตอบสนองต่อโอกาสทางการตลาดได้อย่างรวดเร็ว
- การประหยัดต้นทุน : การลงทุนในทีมพัฒนาซอฟต์แวร์มืออาชีพมีค่าใช้จ่ายสูง แพลตฟอร์ม No-Code/Low-Code ช่วยลดต้นทุนด้านบุคลากรและการพัฒนาลงได้ จึงทำให้ธุรกิจขนาดเล็กและสตาร์ทอัพ สามารถเริ่มใช้ได้ อีกทั้งพนักงานที่ไม่มีพื้นฐานด้านการเขียนโค้ดสามารถมีส่วนร่วมในการพัฒนาเว็บไซต์และแอปพลิเคชันได้ ช่วยลดการพึ่งพาทีม IT ที่มีค่าจ้างในอัตราที่สูง
- ความยืดหยุ่นในการปรับแต่ง : แพลตฟอร์มสมัยใหม่มาพร้อมกับเครื่องมือที่หลากหลาย ทำให้ผู้ใช้สามารถสร้างเว็บไซต์ที่มีฟังก์ชันซับซ้อนได้โดยไม่จำเป็นต้องเขียนโค้ดทั้งหมดเอง
- การบำรุงรักษาที่ง่ายขึ้น : เนื่องจากแพลตฟอร์มจะดูแลเรื่องโครงสร้างพื้นฐานและการอัพเดทความปลอดภัยให้โดยอัตโนมัติ ทำให้ทีมสามารถโฟกัสไปที่การพัฒนาฟีเจอร์และการปรับปรุงประสบการณ์ผู้ใช้ได้มากขึ้น
ข้อจำกัดของการสร้างเว็บไซต์แบบ No-Code/Low-Code
แม้ว่าแพลตฟอร์ม No-Code/Low-Code จะมีข้อดีมากมายในแง่ของความง่ายและความรวดเร็วในการพัฒนา แต่ก็มีข้อจำกัดที่ผู้ใช้งานควรพิจารณาก่อนตัดสินใจเลือกใช้
- ความยืดหยุ่นในการปรับแต่งที่จำกัด : แม้ว่าแพลตฟอร์มจะมีเทมเพลตและคอมโพเนนต์สำเร็จรูปมากมาย แต่การปรับแต่งในระดับลึกหรือการสร้างฟีเจอร์เฉพาะทางที่ซับซ้อนอาจทำได้ยาก หรือในบางกรณีอาจทำไม่ได้เลย เนื่องจากถูกจำกัดด้วยความสามารถของแพลตฟอร์ม
- การพึ่งพาแพลตฟอร์ม : เมื่อเลือกใช้แพลตฟอร์มใดแพลตฟอร์มหนึ่ง คุณจะต้องผูกติดกับระบบนิเวศของแพลตฟอร์มนั้นๆ การย้ายไปยังแพลตฟอร์มอื่นหรือการพัฒนาด้วยวิธีดั้งเดิมในภายหลังอาจทำได้ยากและมีค่าใช้จ่ายสูง
- ข้อจำกัดด้านประสิทธิภาพ : เว็บไซต์ที่สร้างด้วย No-Code/Low-Code อาจมีประสิทธิภาพด้านความเร็วและการทำงานที่ด้อยกว่าเว็บไซต์ที่พัฒนาด้วยการเขียนโค้ดโดยตรง เนื่องจากมีโค้ดส่วนเกินที่ถูกสร้างขึ้นโดยแพลตฟอร์ม
- ค่าใช้จ่ายที่อาจสูงขึ้นในระยะยาว : แม้จะประหยัดค่าใช้จ่ายในการพัฒนาเริ่มต้น แต่ค่าสมาชิกรายเดือนหรือรายปีของแพลตฟอร์ม รวมถึงค่าใช้จ่ายสำหรับฟีเจอร์พิเศษต่างๆ อาจสะสมเป็นจำนวนมากในระยะยาว โดยเฉพาะเมื่อเว็บไซต์มีการเติบโตและต้องการฟีเจอร์เพิ่มเติม
การสร้างเว็บไซต์โดยใช้ AI เป็นอย่างไร

ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี Large Language Models (LLMs) AI ทำให้การสร้างเว็บไซต์ไม่ได้จำกัดอยู่แค่การใช้ภาษาโปรแกรมมิ่งแบบดั้งเดิมเท่านั้น แต่ AI สามารถเข้าใจภาษาที่มนุษย์ใช้สื่อสารกันได้เพื่อท่ีจะสร้างโค้ด HTML, CSS, และ JavaScript ที่มีความซับซ้อนได้โดยอัตโนมัติ ปัจจุบัน การสร้างเว็บไซต์ด้วย AI มีหลากหลายรูปแบบที่น่าสนใจ
1. AI-Powered Code Generation : การใช้ AI เพื่อสร้างโค้ดโดยตรง โดยผู้ใช้เพียงอธิบายความต้องการด้วยภาษาที่เราใช้สื่อสานกันปกติ เช่น “สร้างหน้าเว็บร้านอาหารที่มีเมนูอาหาร พร้อมราคา และมีคำอธิบายเกี่ยวกับอาหารอยู่ภายใต้เมนูนั้นๆ” เป็นต้น หลังจากนั้น AI จะสามารถสร้างโค้ดที่พร้อมใช้งานได้ทันที พร้อมทั้งสามารถปรับแต่งและแก้ไขตามคำแนะนำเพิ่มเติมได้
2. AI Design Assistants : เราสามารถใช้ AI เพื่อวิเคราะห์ และสร้างดีไซน์องค์ประกอบต่างๆ ของเว็บไซต์ โดยคำนึงถึงหลัก UX/UI ที่เป็นมาตรฐาน
3. AI Content Generation & Optimization : นอกจากการสร้างโครงสร้างเว็บไซต์ , การออกแบบ UX/UI หรือจะเขียน Code แล้ว AI ยังสามารถช่วยสร้างเนื้อหา ปรับแต่ง SEO และสร้างภาพประกอบได้โดยอัตโนมัติได้อีกด้วยเช่นกัน
4. AI-Enhanced Testing & Maintenance : เรานำ AI มาทดสอบการทำงานของเว็บไซต์ในหลากหลายสถานการณ์ ตรวจจับข้อผิดพลาด และเสนอแนะวิธีการแก้ไขได้
สรุปแล้วการสร้างเว็บไซต์แบบดังเดิม VS No-Code/Low-Code VS AI
ในการเปรียบเทียบระหว่างวิธีการสร้างเว็บไซต์ทั้งสามรูปแบบนั้น แต่ละวิธีต่างมีจุดแข็งที่แตกต่างกันไป การสร้างเว็บไซต์แบบดั้งเดิมด้วยการเขียนโค้ดยังคงเป็นวิธีที่ให้อิสระและความยืดหยุ่นสูงสุดในการพัฒนา เหมาะสำหรับโปรเจกต์ที่ต้องการฟีเจอร์เฉพาะทางหรือต้องการประสิทธิภาพสูงสุด หากเราเลือกใช้แพลตฟอร์มสร้างเว็บไซต์แบบ No-Code/Low-Code ก็จะได้ประโยชน์เรื่องของความรวดเร็วในและความง่ายสะดวกในการทำเว็บไซต์ แม้คุณไม่มีพื้นฐานการเขียนโค้ดก็สามารถสร้างเว็บไซต์ได้ แต่อาจมีข้อจำกัดในด้านความยืดหยุ่นและการปรับแต่งในระดับที่เราต้องการ Custom แบบหนักๆ ส่วนการใช้ AI ในการสร้างเว็บไซต์นั้นถือเป็นทางเลือกที่น่าทดลองในปัจจุบันแต่ในมุมมองของผู้เขียน คุณอาจจะยังคงต้องการการตรวจสอบและปรับแต่งจากมนุษย์อยู่หลายส่วน
Web 3.0 คืออะไร? การเปลี่ยนแปลงจาก Web 1.0 สู่ Web 3.0
Web 3.0 ถือเป็นยุคถัดไปของอินเทอร์เน็ตที่มุ่งเน้นการสร้างระบบที่เปิดกว้าง, กระจายศูนย์ และอัจฉริยะ เราจะขอเล่าความเป็นมาโดยเริ่มจาก Web 1.0 ในช่วงทศวรรษปลาย 1900 ซึ่งเป็นยุคที่เว็บไซต์ “อ่านได้อย่างเดียว” ผู้ใช้เพียงบริโภคข้อมูลจากเว็บไซต์แบบทางเดียว ขณะที่ Web 2.0 เริ่มต้นมีในช่วงต้น 2000 เป็นการปฏิวัติเพิ่มความสามารถในการมีส่วนร่วมของผู้เข้าชมเว็บไซต์ได้มากยิ่งขึ้น และผู้ใช้สร้างเนื้อหาเองได้ แต่ข้อมูลทั้งหมดยังคงถูกควบคุมโดยบริษัทใหญ่ที่มีอำนาจเหนือข้อมูลนั้นๆ ในปัจจุบันนี้เรากำลังเข้าสู่ยุค Web 3.0 มาพร้อมแนวคิดการคืนอำนาจให้ผู้ใช้ ด้วยเทคโนโลยี Blockchain เป็นระบบที่ไร้ตัวกลาง ผ่าน Smart Contracts และการเชื่อมโยงข้อมูลแบบ Semantic Web ประกอบกับการนำ AI เข้ามาใช้ประมวลผลข้อมูล เป็นการเปลี่ยนแปลงเพิ่มความปลอดภัยและความโปร่งใสของข้องมูลมากยิ่งขึ้น
สรุป
สำหรับผู้ที่กำลังตัดสินใจเลือกเครื่องมือสร้างเว็บไซต์ในยุค Web 3.0 นี้ ผู้เขียนขอแนะนำให้พิจารณาจาก “เป้าหมาย” และ “ทรัพยากร” ของคุณเป็นหลัก หากเป็นสตาร์ทอัพที่ต้องการสร้าง MVP เพื่อทดสอบตลาดอย่างรวดเร็ว แพลตฟอร์ม No-Code/Low-Code คือตัวเลือกที่คุ้มค่าและลดความเสี่ยงได้ดี
แต่หากคุณมุ่งสร้างผลิตภัณฑ์ดิจิทัลที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและรองรับการขยาย Scale ในอนาคต การจับมือนักพัฒนามืออาชีพหรือใช้ AI เป็นผู้ช่วยเขียนโค้ดอาจให้ผลลัพธ์ที่ยืดหยุ่นกว่า ในขณะเดียวกัน อย่าลืมติดตามเทรนด์ Web 3.0 อย่าง Semantic Web, Blockchain และเทคโนโลยีกระจายศูนย์ ที่จะเข้ามาเปลี่ยนโฉมการออกแบบเว็บไซต์ในแง่ของการเป็นเจ้าข้อมูลและเพิ่มประสบการณ์แบบ Personalize ให้ผู้ใช้
ลองเริ่มทดลองใช้เครื่องมือหลากหลายรูปแบบ เพื่อค้นหาจุดสมดุลระหว่าง “ความง่าย” และ “ประสิทธิภาพ” ที่เหมาะกับวิสัยทัศน์ธุรกิจของคุณที่สุด — “เพราะไม่ว่าเทคโนโลยีจะก้าวไกลแค่ไหน การเข้าใจความต้องการของผู้ใช้ยังคงเป็นหัวใจสำคัญที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง”
บริษัทมีแนวทางการพัฒนาเว็บไซต์ การตลาดออนไลน์ ที่เน้นคุณภาพ สร้างผลลัพธ์ได้จริง เพื่อช่วยให้ธุรกิจของคุณเติบโต ในโลกออนไลน์ พวกเรายินดีให้คำปรึกษา พร้อมวางแผนกลยุทธ์ภายใต้โจทย์ทางธุรกิจที่ชัดเจน